Subscribe:

Ads 468x60px

Featured Posts

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

โคขุนและหมูหลุม

 การเลี้ยงโคขุนคืออะไร
         การเลี้ยงโคขุน หมายถึง การเลี้ยงโคให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับค่าอาหารที่ค่อนข้างดีอย่างเต็มที่ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือนอกจากจะให้โคกินอาหารหยาบ (หญ้าหรือฟาง) แล้วยังมีการให้กินอาหารข้น (อาหารเสริม) เพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้โคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้เนื้อที่มีคุณภาพดี


ข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลี้ยงโคขุน
          การที่จะเลี้ยงโคขุนเพื่อให้ได้กำไรนั้น ท่านจะต้องพิจารณาและตอบคำถามต่างๆ ต่อไปนี้ว่าท่านจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ ท่านก็จะสามารถเลี้ยงโคขุนได้ โดยไม่ขาดทุน คือ
1.
ท่านรักโคหรือไม่
2.
มีปัญหาทางสังคมหรือไม่
3.
มีทุนพอหรือไม่
4.
หาโคที่ดีมาขุนได้หรือไม่
5.
มีปัญหาเรื่องอาหารโคหรือไม่
6.
มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูโคขุนมากพอหรือไม่
7.
มีเวลาดูแลกิจการพอหรือไม่
8.
มีลู่ทางเรื่องตลาดหรือยัง



ประเภทและธุรกิจการเลี้ยงโคขุน

          1. เลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูก ขายให้กับผู้เลี้ยงโคขุน การเลี้ยงโคประเภทนี้ ผู้เลี้ยงจะต้องเลี้ยงแม่โคเพื่อใช้ผสมกับพ่อโคพันธุ์ดี หรือผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อของพ่อโคเนื้อพันธุ์ดี เพื่อผลิตลูกโคเพศผู้ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการขุน ส่วนลูกโคตัวเมียผู้เลี้ยงอาจจะคัดเอาไว้เป็นแม่ทดแทนในฝูงต่อไป
          2. เลี้ยงโคขุน ผู้เลี้ยงจะหาซื้อโครุ่นเพศผู้จากแหล่งต่างๆ มาขุนอาจเป็นการขุนแบบโคมัน ขุนลูกโคอ่อน หรือขุนโคขุนคุณภาพดี
          3. เลี้ยงแม่โคผลิตลูก และขุนเอง เป็นการเลี้ยงที่รวมเอาธุรกิจแบบที่ 1 และ 2 รวมกัน เมื่อมีลูกโคเพศผู้เกิดขึ้นก็จะนำมาขุนส่งโรงฆ่า

-ที่มา;ศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ตาก







การเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพ







           ความต้องการบริโภคเนื้อได้เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนประชากรสัตว์ โดยเฉพาะโคมิได้เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค การเลี้ยงโคเนื้อ จึงได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น การเลี้ยงโคขุนเป็นการเลี้ยงโคเนื้ออีกรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งผลิตเนื้อโคคุณภาพดีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทดแทนการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศ การเลี้ยงโคขุนจะใช้เวลาน้อยกว่าการเลี้ยงโคเนื้อโดยทั่วไปการเลี้ยงโคขุนสามารถยึดเป็นอาชีพได้ และเป็นอาชีพที่ให้รายได้ดี ทำให้ผู้เลี้ยงใช้เวลาว่าง และวัสดุเหลือใช้ เช่น ฟางข้าว มันสำปะหลังให้เป็นประโยชน์อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการจับ ตลาดของพืชไร่ดังกล่าว โดยนำผลผลิตเหล่านั้น มาเปลี่ยนเป็นเนื้อโคซึ่งได้ราคาสูงกว่า

การเลี้ยงโคขุนคืออะไร

         การเลี้ยงโคขุน หมายถึงการเลี้ยงโคให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับค่าอาหารที่ค่อนข้างดีอย่างเต็มที่ ในช่วงระยะหนึ่ง คือนอกจากจะให้โคกินอาหารหยาบ (หญ้าหรือฟาง) แล้วยังมีการให้อาหารข้น (อาหารเสริม) เพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้โคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้เนื้อที่มีคุณภาพดี 
ข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลี้ยงโคขุน

          การที่จะเลี้ยงโคขุนเพื่อให้ได้กำไรนั้น ท่านจะต้องพิจารณาและตอบคำถามต่าง ๆ ต่อไปนี้ ว่าท่านจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ท่านก็จะสามารถเลี้ยงโคขุนได้โดยไม่ขาดทุนคือ

          1. ท่านรักโคหรือไม่
          2. มีปัญหาทางสังคมหรือไม่
          3. มีทุนพอหรือไม่
          4. หาโคที่ดีมาขุนได้หรือไม่
          5. มีปัญหาเรื่องอาหารโคหรือไม่
          6. มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูโคขุนมากพอหรือไม่
          7. มีเวลาดูแลกิจการพอหรือไม่
          8. มีลู่ทางเรื่องตลาดหรือยัง

ลำดับขั้นตอนในการดำเนินงานเลี้ยงโคขุน

          ผู้ที่จะเลี้ยงโคขุนควรดำเนินตามขั้นตอนต่อไปนี้
          1.พิจารณาถึงความเป็นไปได้หรือความพร้อมของตนเองดังกล่าวแล้ว
          2.ศึกษาวิธีการเลี้ยงโดยอ่านจากเอกสารต่าง ๆ หรือเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งหน่วยงานราชการต่าง ๆ จัดขึ้น และควรจะไปเยี่ยมชมกิจการของเกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนอยู่แล้ว
          3.รวมกลุ่มผู้สนใจ การเลี้ยงโคขุนสำหรับเกษตรกรรายย่อยและรายขนาดกลางจะได้ผลดีต่อเมื่อมีการรวมเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งจะทำให้สะดวกและประหยัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดซื้อลูกโคมาขุน การจัดซื้ออาหารและการดำเนินการเรื่องตลาด เพราะผู้ซื้อย่อมต้องการให้มีโคขุนป้อนตลาดอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสม่ำเสมอ
          4.ติดต่อตลาดซึ่งควรทำในนามกลุ่ม
          5.การเตรียมเงินทุน
          6.จัดเตรียมแปลงหญ้าต้องลงมือปลูกหญ้าก่อนที่จะนำโคเข้าคอกขุนประมาณ 2 เดือน
          7.สร้างคอก
          8.จัดเตรียมอาหารข้น
          9.ซื้อโคเข้าคอก
          10.ลงมือเลี้ยงโคขุน
          11.วางแผนระยะยาว กล่าวคือคาดว่าในอนาคตจะมีผู้เลี้ยงโคขุนกันมากขึ้น คงจะหาซื้อลูกโคขุนได้ยากขึ้น หรือซื้อได้ในราคาแพง จึงควรจะวางแผนระยะยาว โดยหาซื้อแม่โคมาเลี้ยงไว้บ้าง หรือหาลู่ทางสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับผู้เลี้ยงแม่โค

วิธีการขุนโคเนื้อ

          วิธีขุนโค แบ่งออกเป็น 2 วิธี ตามการให้อาหาร คือ
          1. การขุนด้วยการให้อาหารหยาบเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องได้รับหญ้าสดที่มีคุณภาพดี อาจตัดให้กินหรือปล่อยเลี้ยงในทุ่งหญ้า การขุนวิธีนี้ไม่แตกต่างกับการเลี้ยงโคเนื้อทั่ว ๆ ไปมากนัก จะต้องใช้ระยะเวลานานในการเพิ่มน้ำหนักตัวตามต้องการ อีกทั้งยังได้เนื้อที่ไม่ค่อยมีคุณภาพดีเท่าที่ควรแต่ก็อาจเหมาะสมกับความต้องการของตลาดในท้องถิ่น ซึ่งไม่ต้องการบริโภคเนื้อที่มีคุณภาพสูงมากนัก และค่าใช้จ่ายในการขุนวิธีนี้ก็ยังต่ำอีกด้วย
          2. การขุนด้วยอาหารหยาบเสริมด้วยอาหารข้น เป็นธุรกิจการขุนโคที่ต้องลงทุนสูง มุ่งให้ได้เนื้อโคขุนคุณภาพดี ส่งขายให้กับตลาดเนื้อชั้นสูง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามอายุและคุณภาพเนื้อที่ได้ดังนี้ คือ
              2.1 การขุนลูกโคอ่อน เพื่อส่งโรงฆ่าเมื่ออายุน้อย ส่วนใหญ่นิยมใช้ลูกโคนมเพศผู้ เริ่มขุนตั้งแต่ลูกโคอายุได้ 1 สัปดาห์ หรือหลังจากได้รับนมน้ำเหลืองตามกำหนดแล้ว อาหารที่ใช้ลงทุน จะใช้หางนมผงเป็นหลัก ใช้เวลาขุนจนลูกโคมีอายุประมาณ 6-8 เดือน โคจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้เนื้อที่มีคุณภาพดี เมื่อส่งโรงฆ่า
              2.2 การขุนโคที่เริ่มขุนเมื่อโคมีอายุประมาณ 1 1/2 ปี หรือมีน้ำหนักประมาณ 200-250 กก. ใช้ระยะเวลาขุนประมาณ 6 เดือน ให้ได้น้ำหนัก 400-450 กก. แล้วส่งโรงฆ่า เป็นรูปแบบการขุนที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมใช้โคเนื้อลูกผสมที่ทดสอบแล้วว่ามีการเจริญเติบโตดี คุณภาพเนื้อที่ได้จะดีกว่าการขุนในรูปแบบอื่นมาก และเกษตรกรหันมายึดเป็นอาชีพกันมากขึ้นในปัจจุบัน
              2.3 การขุนโคที่มีอายุมาก หรือโคที่โตเต็มวัยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นโคที่ปลดจากการใช้แรงงาน ซึ่งมีอายุมักจะไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นการขุนเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อเพียงบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มไขมันหุ้มซาก โดยไม่สนใจไขมันแทรกในเนื้อ จะใช้เวลาในการขุนประมาณ 3 เดือน โคที่ได้จากการขุนประเภทนี้โดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "โคมัน"

ประเภทและธุรกิจการเลี้ยงโคขุน

          ธุรกิจการเลี้ยงโคขุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
          1. เลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูกขาย ให้กับผู้เลี้ยงโคขุน การเลี้ยงโคประเภทนี้ ผู้เลี้ยงจะต้องเลี้ยงแม่โคเพื่อใช้ผสมกับพ่อโคพันธุ์ดี หรือผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อของพ่อโคเนื้อพันธุ์ดี เพื่อผลิตลูกโค เพศผู้ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการขุน ส่วนลูกโคตัวเมียผู้เลี้ยงอาจจะคัดเอาไว้เป็นแม่ทดแทนในฝูงต่อไป
          2. เลี้ยงโคขุน ผู้เลี้ยงจะหาซื้อโครุ่นเพศผู้จากแหล่งต่าง ๆ มาขุนอาจเป็นการขุนแบบโคมัน ขุนลูกโคอ่อน หรือขุนโคขุนคุณภาพสูง
          3. เลี้ยงแม่โคผลิตลูก และขุนเอง เป็นการเลี้ยงที่รวมเอาธุรกิจแบบที่ 1 และ 2 มารวมกัน เมื่อลูกโคเพศผู้เกิดขึ้นก็จะนำมาขุนส่งโรงฆ่า

การคัดเลือกโคมาขุน

                                          โคขุนที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้ หาซื้อได้ง่าย และราคาถูก เลี้ยงดูง่าย ทนโรค ทนเห็บ ทนร้อน เติบโตเร็ว ประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงคือ สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้ดี คุณภาพซากดี คือมีเนื้อมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อที่ที่มีราคาแพงคือเนื้อสันและเนื้อสะโพก เป็นที่ต้องการของตลาดและได้ราคาสูง

หลักในการช่วยพิจารณาจัดหาโคเข้ามาขุนเพื่อขาย

          1. พันธุ์โค ในการเลือกซื้อโคเข้ามาขุนควรจะพิจารณาเลือกซื้อพันธุ์โคที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโคขุนด้วย เช่น โคพันธุ์เมืองตลาดชั้นสูงไม่ต้องการเพาะ ซากเล็ก ไขมันแทรกน้อย หน้าตัดเนื้อสันเล็ก พันธุ์โคที่เหมาะสม ในการนำมาขุนควรเป็นโคลูกผสมที่มีสายเลือดโคยุโรปอยู่ในช่วง 50-62.5% เพราะพบว่าโคที่มีสายเลือดของโคยุโรปอยู่สูงกว่านี้ จะมีปัญหาในการเลี้ยงในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พันธุ์โคที่เหมาะสมต่อการขุน ได้แก่ โคลูกผสมบราท์มัน x พันธุ์พื้นเมือง x พันธุ์วาร์โรเล่ส์ บราท์มัน x ซาร์โรเล่ส์ บราท์มัน x พื้นเมือง บราห์มัน x ลิมูซีน ซินเมนทอล เคร้าท์มาสเตอร์ บราห์มัน x แองกัส (แบงส์กัส) เป็นต้น
          2. เพศโค ลูกโคที่จะนำมาขุนควรเป็นเพศผู้เพราะการเจริญเติบโตและเปอร์เซ็นต์ซากหลังชำแหละ จะสูงกว่าโคเพศเมีย อีกทั้งราคาก่อนขุนก็ถูกกว่าอีกด้วย ส่วนเหตุผลที่จะต้องตอนลูกโคเพศผู้ก่อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง กล่าวคือ หากคอกขุนเป็นคอกขังเดี่ยว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอนอีกทั้งมีการศึกษาพบว่า โครุ่นเพศผู้ไม่ตอน จะมีการเจริญเติบโตสูงกว่าโครุ่นเพศผู้ตอน และมีประสิทธิภาพการให้อาหารสูงกว่า แต่โคตอนจะมีไขมันแทรกดีกว่า หากตลาดมีความต้องการ และให้ราคาดีก็ควรจะตอน ในกรณีที่ต้องเลี้ยงโคขุนในคอกรวมกันและขนาดของโคมีความแตกต่างกัน การตอนจะช่วยลดความคึกคนองของโคที่ใหญ่กว่า ลดการรังแกตัวอื่นลงไปได้
          3. อายุของโค มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาขุนกล่าวคือ ถ้าขุนโคอายุน้อยต้องใช้เวลามากกว่าการขุนโคใหญ่ เช่น โคหย่านม ใช้เวลาขุนประมาณ 10 เดือน แต่ถ้าเป็นโคอายุ 1 ปี ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน โคอายุ 1.5 ปี ใช้เวลาขุนประมาณ 6 เดือน โคอายุ 2 ปี ใช้เวลาขุนประมาณ 4 เดือน และโคเต็มวัยใช้เวลาขุนประมาณ 3 เดือน ดังนั้นถ้าตลาดระยะสั้นดีหรือต้องการผลตอบแทนเร็วก็ควรขุนโคใหญ่ แต่ถ้าตลาดระยะยาวดีหรือตลาดยังไม่แน่นอนควรขุนโคเล็ก เพื่อยืดเวลาและโคจะเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะประวิงเวลาไม่ได้เพราะระยะหลัง ๆ ของการขุนโคใหญ่จะโตช้ามาก ถ้าผู้เลี้ยงมี
ประสบการณ์ในการเลี้ยงโคขุนน้อยควรจะขุนโคใหญ่เพราะมีปัญหาในการเลี้ยงดูน้อยกว่าโคเล็ก แต่ถ้าจะผลิตเนื้อโคขุนส่งตลาดชั้นสูง โคที่ขุนเสร็จแล้วไม่ควรจะมีอายุเกิน 3 ปี และถ้าจะผลิต “โคมัน” ส่งตลาดพื้นบ้านควรจะเลือกโคเต็มวัยมาขุนเพื่อจะได้มีไขมันมากและสีเหลือง

แหล่งที่จะหาซื้อโคมาขุน

          โคที่จะนำมาขุน อาจได้จากโคในคอกของผู้เลี้ยงเอง ซึ่งเลี้ยงแม่ผลิตลูกอยู่แล้ว หรือซื้อลูกโคจากผู้ผลิตลูกโคขาย ในบางท้องที่ซึ่งมีตลาดนัดโค-กระบือ ผู้เลี้ยงโคขุนอาจหาซื้อโคได้จากตลาดนัดต่าง ๆ การซื้อขายโคมีชีวิตส่วนใหญ่ ทำการขายหลังฤดูเก็บเกี่ยว สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตลาดนัดค้าสัตว์ได้จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในท้องถิ่น

   1 คอกโคขุน

          ลักษณะและขนาดของคอกโคขุน ย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสถานที่และขนาดของกิจการแต่ก็พอจะสรุปหลักการได้ดังนี้
          1.สถานที่
          1.1ควรเป็นที่ดอน ระบายน้ำได้ดี หรืออาจจะต้องถมพื้นให้สูงกว่าระดับปกติเพื่อไม่ให้น้ำขังในฤดูฝน
          1.2ควรให้ความยาวของคอกอยู่ทิศทางตะวันออก-ตะวันตก
          1.3วางแผนให้สามารถขยายกิจการได้ในอนาคต

   2.ขนาดของคอก

          2.1 พื้นที่คอกควรมีพื้นที่ประมาณ 8 ตารางเมตร/ตัว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวควรมีหลังคาอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือให้เป็นที่โล่งหรือมีร่มไม้ก็ยิ่งดี
          2.2 ถ้าพื้นที่ต่อตัวน้อยเกินไป จะมีปัญหาเรื่องพื้นคอกแฉะ แม้กระทั่งฤดูแล้งแต่ถ้ามากเกินไป ก็จะต้องเสียพื้นที่มากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสร้างคอกมากขึ้น
          2.3 ถ้าจะสร้างหลังคาคลุมพื้นที่คอกทั้งหมดก็ได้ มีข้อดีที่ไม่ทำให้พื้นคอกแฉะในฤดูฝน แต่ก็มีข้อเสียหลายประการคือ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและโคอาจจะขาดวิตามินดี เพราะไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดเลย 

   3. พื้นคอก

          3.1 พื้นคอกโคขุนสามารถเทคอนกรีตทั้งหมดได้ก็เป็นการดี เพราะจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นคอกเป็นโคลนในฤดูฝนได้ แต่ต้องการประหยัดก็อาจจะเทคอนกรีตเฉพาะพื้นที่คอกส่วนที่อยู่ใต้หลังคาก็ได้ หากพื้นคอกส่วนใต้หลังคาเป็นดินจะมีปัญหาเรื่องพื้นเป็นโคลน ไม่ว่าจะเป็นฤดูแล้งหรือฤดูฝน 
          3.2 พื้นคอนกรีตหนา 7 เซนติเมตร โดยไม่ต้องผูกเหล็กสามารถรับน้ำหนักโคขุนได้ สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ ถ้าต้องการให้รถแทรกเตอร์ (รถไถ) เข้าไปในคอกได้ จำเป็นจะต้องเทคอนกรีตให้หนา 10 เซนติเมตร และผูกเหล็กหรือไม้รวกก็ได้
          3.3 ผิวหน้าของพื้นคอนกรีต ควรทำให้หยาบโดยใช้ไม้กวาดมือเสือครูดให้เป็นรอย
          3.4 พื้นคอกส่วนใหญ่ที่เป็นคอนกรีตใต้หลังคา ควรจะปูด้วยวัสดุที่ซับความชื้นได้ดี ได้แก่ แกลบ ขี้กบ ขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด เป็นต้น ข้อดีก็คือทำให้โคไม่ลื่น ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดคอกทุกวัน อีกทั้งมูลโคพร้อมวัสดุรองพื้นนี้นับว่าเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีสำหรับแปลงหญ้า การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอกควรทำ 1-2 ครั้ง/เดือน ในฤดูฝนและประมาณ 3 เดือนต่อครั้งในฤดูแล้ง แกลบ 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถปูพื้นคอกได้ 10-12 ตารางเมตร (หนาประมาณ 7 เซนติเมตร) หรือแกลบ 1 กระสอบป่านใช้ปูพื้นได้ 2 ตารางเมตร พื้นคอกส่วนที่เป็นพื้นดินหรือส่วนที่อยู่นอกหลังคาไม่จำเป็นต้องมีวัสดุรองพื้น
          3.5 ควรทำบ่ากั้นแกลบไม่ให้ไหลจากส่วนใต้หลังคาคอนกรีตไปยังส่วนที่เป็นพื้นดิน
          3.6 การปูวัสดุรองพื้นนี้อาจจะไม่จำเป็นเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ผู้เลี้ยงโคขุนบางรายนิยมการล้างทำความสะอาดพื้นคอกทุกวัน ซึ่งได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่สิ้นเปลืองแรงงานค่อนข้างมาก จากประสบการณ์สรุปว่าในฤดูแล้งควรใช้วิธีปูวัสดุรองพื้น ส่วนในฤดูฝนควรใช้วิธีทำความสะอาดคอกทุกวัน
          3.7 มีผู้ทดลองใช้ซีเมนต์บล๊อคเป็นพื้นคอกโคขุนแทนการเทคอนกรีต ปรากฎว่าไม่สามารถทนน้ำหนักโคได้ แต่ถ้าเป็นซีเมนต์บล๊อคที่สั่งอัดพิเศษโดยใส่ส่วนผสมปูนซีเมนต์ลงไปมากกว่าปกติ จะสามารถใช้ปูเป็นพื้นคอกโคขุนได้

   4. หลังคา

          4.1สามารถทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กัน เช่น กระเบื้อง สังกะสี จากหรือแฝก
          4.2ถ้าหลังคามุงด้วยสังกะสีควรใช้ชายล่างหลังคาสูงจากพื้นดินประมาณ 250 เซนติเมตร มิฉะนั้นจะทำให้อากาศภายในคอกในฤดูร้อนร้อนมาก
          4.3ถ้าหลังคามุงจากหรือแฝก ชายล่างของหลังคาควรให้สูงจากพื้นดิน 250 เซนติเมตรเช่นกัน ถ้าต่ำกว่านั้นโคจะกัดกินหลังคาได้

   5. เสาคอก

          5.1 สามารถทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันเช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ไม้สน เหล็ก แป๊บน้ำ หรือคอนกรีต
          5.2 เสาไม้ เสาเหล็ก และแป๊บน้ำ มักมีปัญหาเรื่องเสาขาดคอดินต้องแกไขโดยการหล่อคอนกรีต หุ้มโคเสาสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร การหุ้มโคนเสามักจะเกิดปัญหาการแตกร้าวของคอนกรีต ซึ่งสามารถแก้ได้โดยใช้ท่อปล่องส้วมหรือท่อแอสล่อนเป็นปลอกหุ้มภายนอกอีกชั้นหนึ่ง
          5.3 เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความคงทนถาวรดีมาก แต่มีปัญหาในการกั้นคอกเพราะไม่สามารถตอกตะปูหรือเจาะรูน๊อตได้
          5.4 เสาไม้สนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีอายุใช้งานเพียงประมาณ 1 ปี หรือผ่านเพียง 1 ฤดูฝนเท่านั้น โคนเสาระดับพื้นดินก็จะหักเสาไม้ไผ่ (ไม้ซอ) มีความคงทนกว่าไม้สนเล็กน้อย
          5.5 การใช้เสาคอนกรีตฝังดิน และโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อยแต่ต่อด้วยเสาไม้นั้น มักจะเกิดปัญหาโคนเสาบริเวณรอยต่อหักเมื่อถูกแรงกระแทกของโค

   6. รั้วกั้นคอก

          6.1 สามารถทำด้วยวัสดุต่างกัน เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ไม้สน แป๊บน้ำ เป็นต้น
          6.2 ไม้สน และไม้ไผ่มีอายุใช้งานได้ประมาณ 1 ปีเศษ หรือผ่าน 1 ฤดูฝนเท่านั้น
          6.3 รั้วกั้นคอกรอบนอกควรกั้นอย่างน้อย 4 แนว แนวบนสุดสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 150 เซนติเมตร ส่วนรั้วที่แบ่งคอกย่อยภายใน ควรกั้นอย่างน้อย 3 แนว
          6.4 การกั้นรั้วคอกควรให้ไม้หรือแป๊บน้ำที่ใช้กั้นอยู่ด้านในของเสาเพราะเมื่อถูกแรงกระแทกจากโค เสาจะได้ช่วยรับแรงไว้
          6.5 ตาไม้หรือสิ่งแหลมคมในคอกต้องกำจัดออกให้หมด

   7. รางอาหาร

          7.1ควรสร้างให้ได้ขนาดความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร
          7.2รางอาหารที่แคบเกินไปจะมีปัญหาเรื่องอาหารตกหล่นมากเพราะขณะที่โคยืนเคี้ยวอาหาร ปากโคจะยื่นเลยรางอาหารออกมา
          7.3การทำรางอาหารเตี้ยมากเกินไป ทำให้โคต้องก้มมากในขณะกินอาหาร แต่ถ้าสูงเกินไปจะมีปัญหาสำหรับโคขนาดเล็ก
          7.4โคขุนระยะแรกต้องการอาหารยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อโคขุน 1 ตัว และประมาณ 65 เซนติเมตรในระยะปลาย 
   8. อ่างน้ำ

          8.1 อ่างน้ำควรวางอยู่ในจุดต่ำสุดของคอก หรืออาจจะวางอยู่นอกคอกแล้วทำช่องให้โคโผล่หัวออกไปดื่มน้ำได้
          8.2 ขนาดของอ่างน้ำควรคำนวณให้สามารถ บรรจุน้ำได้พอเพียงสำหรับโคทุกตัวในคอก โค 1 ตัวดื่มน้ำวันละ 20-30 ลิตร หรือโคขุนที่กินหญ้าสดหรือเปลือกสับปะรดเป็นอาหารหยาบ ต้องการน้ำประมาณวันละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว ส่วนโคขุนที่กินฟางหรือหญ้าแห้งเป็นอาหารหยาบต้องการน้ำประมาณวันละ10เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว 

   9. มุ้ง

          ในบริเวณที่มียุงหรือแมลงวันรบกวนมากมุ้งมีความจำเป็นมาก
          
          ข้อดีของมุ้งคือ

          1.ป้องกันการรบกวนและดูดเลือดจากแมลงต่างๆ
          2.ป้องกันแมลงและผีเสื้อตอมตาอันเป็นสาเหตุให้เกิดตาอักเสบและพยาธิในตา
          3.ลดการหกหล่นของอาหาร กล่าวคือ ถ้ามีแมลงมากโคจะแกว่งศีรษะเพื่อไล่แมลงขณะกินอาหารทำให้อาหารหกหล่น
มุ้งที่ใช้เป็นมุ้งไนล่อนสีฟ้าควรเป็นเบอร์ 16 หน้ากว้าง 2.5 เมตร ราคาม้วนละ 350-400 บาท (ยาว 30 เมตร) จะใช้มุ้งตาถี่กว่านี้ (เบอร์ 20) ก็ได้ แต่ราคาแพงขึ้นและทำให้การระบายอากาศในคอกไม่ดีนัก การเย็บมุ้งให้เข้ากับรูปทรงของคอกสามารถเย็บด้วยมือหรือจ้างร้านเย็บผ้าใบก็เป็นการสะดวก ในอัตร
คาแรงคิดเป็นม้วนๆละประมาณ40บาท 

อาหารและการให้อาหารโคขุน

          อาหารที่ใช้เลี้ยงโคขุนได้แก่อาหารหยาบ และอาหารข้น ดังนี้

          1. อาหารหยาบ

          อาหารหยาบ คืออาหารที่มีเปอร์เซ็นต์ของเยื่อใยสูง มีเปอร์เซ็นต์ของโปร*ต่ำ ส่วนใหญ่ได้แก่หญ้า อาหารหยาบเป็นอาหารหลักของโค และสัตว์กระเพาะรวมอื่น ๆ ซึ่งได้จาก 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ
          (1) หญ้า อาจได้จากทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ หรือจากการทำแปลงหญ้าแต่ในการเลี้ยงโคขุนควรจะทำแปลงหญ้า เองเพราะเป็นที่ทราบกันแล้วว่าโคขุนต้องการอาหารที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการเลี้ยงโคขุนโดยใช้อาหารหยาบล้วนก็จำเป็นจะต้องมีแปลงหญ้ามีคุณภาพดี หญ้าที่แนะนำได้แก่ หญ้าขน หญ้ารูซี่ ซึ่งเหมาะ ต่อการเลี้ยงโดยการปล่อยโคลงแทะเล็มเองในแปลงหญ้า และหญ้ากินนี เหมาะสำหรับเลี้ยงโดยการตัดสดให้โคกิน โดยทั่วไปโคจะกินหญ้าสดประมาณวันละ 35-40 กก./ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของโค แต่ในการเลี้ยงโคขุนเราใช้อาหารข้น ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงเสริมให้กับโค โคจึงอาจมีความต้องการอาหารหยาบลดลง ปริมาณที่ใช้ต่อวัน
          (2) วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอื่น ๆ เช่น ฟางข้าว เปลือกสัปปะรด ต้นข้าวโพด ยอดอ้อย ถึงแม้ว่าวัสดุดังกล่าว บางอย่างจะมีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างต่ำ แต่ก็สามารถใช้เลี้ยงโคขุน แบบขุนโดยเสริมอาหารข้นได้ดี คุณค่าทางอาหารนี้ที่ขาดไปจากวัสดุเหล่านี้ ก็จะเสริมให้โดยดูสูตรอาหารข้น

          2. อาหารข้นหรืออาหารผสม

          อาหารข้น คืออาหารที่มีเปอร์เซ็นต์เยื่อใยต่ำ มีเปอร์เซ็นต์โปร*สูง มีการย่อยได้สูง ประกอบด้วยวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ผสมกันให้ครบส่วนตามความต้องการของโคใช้เสริมกับอาหารหยาบ และอาจเลือกใช้สูตรให้เหมาะสมกับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและราคาถูก ตามตารางที่ 1 และประมาณการใช้อาหารข้น เมื่อใช้เลี้ยงร่วมกับอาหารหยาบชนิดต่าง ๆ

หลักการให้อาหารโคขุน

          อาหารที่ใช้ขุนโคมีทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น อัตราส่วนระหว่างอาหารหยาบต่ออาหารข้นจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับ
          1.ราคาของอาหารทั้งสองเปรียบเทียบกัน
          2.อายุและสภาพของโค
          3.ระยะเวลาของการขุน คือระยะต้นหรือระยะปลาย
          4.จำนวนอาหารข้นที่ให้ ให้กินอย่างเต็มที่หรือกินอย่างจำกัด ถ้าให้กินอาหารข้นจำกัด จำนวนอาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงโคต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย
          5.อากาศ ถ้าอากาศร้อนควรให้อาหารข้นในปริมาณสูง
โดยปกติแล้วอัตราส่วนระหว่างอาหารหยาบต่ออาหารข้นสำหรับโคขุนควรเป็นดังนี้ คือ
          -ระยะเริ่มต้นขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 70 : 30
          -ระยะกลางขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 30 : 70
          -ระยะปลายของการขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 15 : 85
ปริมาณอาหารที่ให้โคขุน การให้อาหารที่ถูกต้องทั้งด้านปริมาณและโภชนะที่โคต้องการนั้น ต้องให้ตามความต้องการของโค ซึ่งจะมีการคำนวณและมีการใช้ตาราง ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องนี้พอสมควร แต่ที่จะกล่าวต่อไปเป็นหลักเกณฑ์โดยปริมาณในการให้อาหารแก่โคขุนที่มีอายุต่าง ๆ กัน คือ
          1.โคมีอายุ 2 ปีขึ้นไป กินอาหารวัตถุแห้ง 2% ของน้ำหนักตัวโค
          2.โคที่มีอายุ 1 - 2 ขึ้นไป กินอาหารวัตถุแห้ง 2.5% ของน้ำหนักตัวโค
          3.โคที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี กินอาหารวัตถุแห้ง 3% ของน้ำหนักตัวโค

การสุขาภิบาลโคขุน

          การสุขาภิบาล หมายถึง การจัดการใด ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและตัวโค เพื่อทำให้โคอยู่สบาย สุขภาพดี ซึ่งส่งผลให้มีการเจริญเติบโตดีตามไปด้วย ได้แก่ การเลือกแบบ ขนาดและความสะดวกของโรงเรือน อาหารและการให้อาหาร การถ่ายเทอากาศ และพาหะนำโรคต่าง ๆ

          ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับโคขณะขุน 
          1. ท้องเสีย อาจเกิดจากอาหาร เช่น เปลี่ยนอาหารกินกากน้ำตาลมากเกินไป กินเกลือมากเกินไป ได้รับสารพิษ สาเหตุจากพยาธิ จากโรคบิด เป็นต้น
          2. ท้องขึ้น หรือท้องอืด อาจเกิดจากปริมาณแก๊สในกระเพาะมากเกินไปจนระบายออกไม่ทัน เนื่องจากโคกินหญ้าสดที่อวบน้ำมากเกินไป
          3. โรคปอดบวม อาจเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิปอด อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป หรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในทางเดินหายใจ
          4.มีบาดแผล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด ขวิดกันเอง เป็นต้น
          5.เป็นฝี เกิดขึ้นเนื่องจากการอักเสบ แล้วเกิดเป็นหนองขึ้นภายใน
          6.ตาอักเสบ อาจเกิดจากมีวัสดุทิ่มตา ขวิดกันเอง หรือเป็นการอักเสบมีเชื้อ โดยมีแมลงเป็นพาหะ
          7.กีบเป็นแผล อาจเป็นผลมาจากความชื้นแฉะของคอก ซึ่งจะพบปัญหานี้มากในฤดูฝน
          8.เกิดโรคระบาดต่าง ๆ การทำวัคซีนไม่ได้เป็นข้อประกันว่าจะคุ้มโรคได้ 100% โคอาจมีโอกาสติดโรคระบาดได้อีก เมื่อมีอาการของโรคต่าง ๆ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ

การป้องกันโรค และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของโค

          1.คัดเลือกเฉพาะโคที่มีคุณภาพ ลักษณะดี และปลอดจากโรคต่าง ๆ ไว้เลี้ยง หรือผสมพันธุ์
          2.ให้อาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีคุณค่าทางโภชนะ
          3.จัดให้มีการทำทะเบียน บันทึกสุขภาพของโคทุกตัว
          4.หมั่นสังเกตสุขภาพของโค เมื่อมีความผิดปกติจะได้ทำการแก้ไขทันที
          5.เมื่อพบว่าโคตัวใดมีอาการผิดปกติ ให้แยกออกจากฝูง เพื่อสังเกตอาการและทำการรักษา
          6.ก่อนซื้อ หรือนำโคตัวใหม่เข้ามาในฝูงต้องแน่ใจว่าปลอดจากโรคต่าง ๆ แล้ว และควรแยกเลี้ยงต่างหากนอกฝูงเดิม ประมาณ 2-4 อาทิตย์ เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค ซึ่งอาจติดต่อมาจากโคตัวใหม่
          7.ทำความสะอาดคอกเลี้ยง และบริเวณโดยรอบให้สะอาดอยู่เสมอ
          8.เมื่อโคที่อยู่ในฝูงเดียวกัน หรือบริเวณใกล้เคียงกันเป็นโรค ซึ่งมีอาการเหมือนกัน หรืออาการใกล้เคียงกัน ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และเป็นกับสัตว์อื่นมาก ๆ ขึ้น ให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า เกิดโรคระบาดขึ้นบริเวณนั้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ หรือปศุสัตว์อำเภอโดยด่วนที่สุด สำหรับสัตว์ป่วยให้แยกออกรักษาต่างหาก สัตว์ที่ตาย เมื่อสัตวแพทย์ตรวจแล้ว ควรทำลายโดยการฝังให้ลึก โรยด้วยปูนขาว หรือทำการเผา แล้วทำความสะอาดคอก และเครื่องมือต่าง ๆ ด้วยสารเคมี หรือยาฆ่าเชื้อ

ตลาดโคขุน

          เนื้อโคขุน จะมีลักษณะ คุณภาพ ความน่ากินดีกว่าโคเนื้อที่เลี้ยงแบบธรรมดา อีกทั้งด้านทุนการเลี้ยงดูก็สูงกว่า ตลาดเนื้อโคขุนจึงได้แก่ ตลาดชั้นสูง ซึ่งนำไปทำอาหารฝรั่ง เช่น สเต็ก เนื้ออบ เป็นต้น สำหรับตลาดเนื้อโค โดยทั่ว ๆ ไป ยังไม่มีการซื้อขายเนื้อตามคุณภาพ เมื่อขุนโคได้ กำหนด และขนาด น้ำหนักที่ต้องการแล้ว จะต้องส่งเข้าโรงฆ่าทันที หากยังคงเลี้ยงต่อไปก็จะได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า โคจะกินอาหารปกติ แต่อัตราการเพิ่มน้ำหนักตัวจะต่ำ ถ้าหยุดหรือลดอาหาร โคจะมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลี้ยงโคขุนควรมีการสำรวจตลาดและหาตลาดรองรับเสียก่อน

ลักษณะโคที่พร้อมส่งตลาด

          เมื่อกล้ามเนื้อของโคเจริญเกือบเต็มที่แล้ว ร่างกายจะเริ่มสะสมไขมันทั้งแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อและหุ้มอยู่นอกกล้ามเนื้อ จะสังเกตได้จากภายนอกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณอก และซอกขาหน้า สองข้างของโคนหาง ไหล่ หากบริเวณต่าง ๆ ดังกล่าวเต็มแล้ว โคก็จะมีการเจริญเติบโตต่อไปในอัตราน้อย ถึงแม่จะได้รับอาหารมาก จึงเป็นจุดที่ไม่คุ้มทุนหากจะเลี้ยงต่อไป






ศักยภาพการเลี้ยงโคขุนในภาคใต้ของไทย


        
                    ระหว่างวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2540 กรมปศุสัตว์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมผู้ประกอบการผลิตเนื้อและปศุสัตว์ออสเตรเลีย (AMLC - Australian Meat and Livestock Corporation) จัดสัมมนาการเลี้ยงโคขุนแบบ Feedlotting ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส เรื่องที่ได้มีการพิจารณาและอภิปรายกว้างขวางคือ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่จะทำการเลี้ยงโคขุนในภาคใต้ ประเด็นที่ผู้อภิปรายนำเสนอได้แก่ ศักยภาพทางกายภาพ ชีวภาพ และความพร้อมด้านเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งกลไกการตลาด
                    1. ศักยภาพด้านกายภาพ ภาคใต้มีฝนตกชุก มีแหล่งเก็บกักน้ำจำนวนมาก พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และผลไม้ต่าง ๆ ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงโค คือ สามารถปลูกพืชอาหารสัตว์ได้หลายชนิดมีแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์อย่างพอเพียง ผลเสียต่อการเลี้ยงสัตว์คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่น ฝนชุก ความชื้นสูง และการเกิดน้ำท่วมขังบ่อย ๆพื้นที่บางส่วนมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำทำให้ผลผลิตและคุณภาพพืชอาหารสัตว์ต่ำ
                    2. ศักยภาพด้านชีวภาพ อาชีพหลักของประชากรภาคใต้ คือการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น ดังนั้นหากสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ในระหว่างแถวของไม้ยืนต้น หรือปลูกพืชอาหารสัตว์ก่อนที่เกษตรกรจะสามารถเก็บผลผลิตไม้ยืนต้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคเนื้อยังเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรในภาคใต้ หากพัฒนาระบบการเลี้ยง เป็นโคขุนก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
                    อย่างไรก็ตาม จำนวนโคเนื้อและศักยภาพพันธุกรรมโคเนื้อในภาคใต้ยังต่ำกว่าภาคอื่น เนื่องจากจำนวนโคเนื้อพ่อแม่พันธุ์รวมทั้งลูกโคที่ผลิตได้ในแต่ละปียังน้อย พันธุ์โคส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือลูกผสมพื้นเมืองซึ่งมีสมรรถนะการผลิตต่ำ หากจะส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน จะต้องมีการเพิ่มจำนวนโคแม่พันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ ปรับปรุงระบบการจัดการ ตลอดจนบริการด้านสุขภาพสัตว์
                  3. ศักยภาพด้านการตลาด อัตราการบริโภคเนื้อโคของประชากรในภาคใต้ไม่แตกต่างจากประชากรภาคอื่น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถในการผลิตโคส่งตลาดซึ่งต่ำกว่าภาคอื่น ๆ แล้ว ภาคใต้อยู่ในสภาวะที่ผลิตโคเนื้อไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในภูมิภาค จำเป็นต้องพึ่งพาโคเนื้อจำนวนหนึ่งจากภาคอื่น ดังนั้น ราคาเนื้อโคในภาคใต้จึงสูงกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนั้นในแต่ละปีจะมีการขนส่งโคจากภาคใต้ไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ทำให้โคเนื้อมีโอกาสขาดแคลน เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ภาคใต้มีศักยภาพการตลาดที่ดีกว่า หากมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน นอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการเนื้อโคคุณภาพดีในภาคใต้ ลดการเคลื่อนย้ายสัตว์จากภาคอื่นเข้ามาด้วย
              ในปี 2541 กรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนให้มีการก่อสร้างตลาดกลางค้าสัตว์ และโรงชำแหละสัตว์ทันสมัย 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดชุมพร และที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตลาดสำคัญที่จะรับซื้อโคขุนจากเกษตรกรในอนาคต
                         4. ศักยภาพด้านอาหารสัตว์ การเลี้ยงโคขุน แม้จะมีการใช้อาหารข้นเป็นหลัก แต่อาหารหยาบโดยเฉพาะพืชอาหารสัตว์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับโคและเป็นแหล่งอาหารที่ราคาถูกกว่าอาหารข้น ดังนั้นการพัฒนาพืชอาหารสัตว์ ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ จึงเป็นเรื่องจำเป็น
                      หน่วยงานกรมปศุสัตว์ ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์และสถานีอาหารสัตว์ได้ศึกษาและพัฒนาระบบการผลิตพืชอาหารสัตว์ ให้สามารถผลิตพืชอาหารสัตว์ได้ในสภาพพื้นที่เฉพาะ ดังนั้นเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อจะสามารถผลิตพืชอาหารสัตว์ได้ตามความต้องการ นอกจากนั้นมีวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายชนิดเช่น กากเมล็ดปาล์ม กากเมล็ดยางพารา ต้นสาคู สามารถนำมาใช้เลี้ยงโคขุนได้และเป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูก อย่างไรก็ตาม การนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกร จะต้องมีการให้ความรู้ฝึกฝนทักษะ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอาหารสัตว์ รวมทั้งการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เป็นองค์กรที่มีอำนาจต่อรอง สามารถซื้อวัตถุดิบพร้อมกันในปริมาณมากและผลิตอาหารสัตว์เป็นแบบกึ่งอุตสาหกรรม ลดขั้นตอนการตลาด ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้
                         5. ศักยภาพองค์กร ความสำเร็จในการพัฒนาปศุสัตว์ส่วนหนึ่งนั้นขึ้นกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นที่ทราบดีว่า หน่วยงานภาครัฐนั้น มุ่งส่งเสริมอาชีพและให้การสนับสนุนการผลิตของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม บริการที่หน่วยงานภาครัฐสามารถสนับสนุนได้ ได้แก่ บริการวิชาการ และบริการป้องกันรักษาโรค ดังนั้น หากสนับสนุนเกษตรกรเลี้ยงโคขุน จะต้องมีเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการให้บริการเกษตรกร เช่น การสนับสนุนเงินทุนในรูปสินเชื่อ การดำเนินการด้านการตลาด การขนส่ง การจัดหาพันธุ์สัตว์ การดำเนินการนำเข้าส่งออกปศุสัตว์ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เป็นต้น
                   6. ศักยภาพของเกษตรกร อาชีพการเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพใหม่สำหรับเกษตรกร วิธีการเลี้ยงโคขุน เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีความสลับซับซ้อน และมีความเสี่ยงสำหรับผู้เริ่มเลี้ยงเป็นครั้งแรก ดังนั้นการพัฒนาการเลี้ยงโคขุน จะต้องทำในลักษณะเป็นโครงการนำร่อง จัดทำเป็นแผนระยะปานกลางถึงระยะยาว มีการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านวิชาการและบริการพื้นฐานอย่างใกล้ชิด ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการดำเนินการจนปรากฏผล จำนวนเกษตรกรที่สนใจและยอมรับการเลี้ยงโคขุนก็จะเพิ่มขึ้






-ที่่มา;dld.go.th


เลี้ยงโคขุนด้วยข้าวโพด กำไร 3 ต่อ ที่ 'ครบุรี'


"สุรพรหม จันทร์ชม” หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินตำบลมาบตะโกเอน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นเกษตรกรต้นแบบรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้าน “การทำเกษตรแบบเกื้อกูลกัน” ระหว่างการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเขาได้ปลูกข้าวโพดหวานควบคู่กับการเลี้ยงโคขุนป้อนตลาด ขณะเดียวกันยังนำต้นข้าวโพดซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาผลิตข้าวโพดหมักขายให้กับผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงด้วย ได้กำไรถึง 3 ต่อ 
 
คุณสุรพรหมเล่าให้ทีมงานฟังว่า เดิมครอบครัวทำอาชีพปลูกข้าวโพดหวานในที่ดิน 19.37 ไร่ ที่ ส.ป.ก.จัดสรรให้เข้าทำกิน หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งตลาดแล้ว เห็นว่ามีต้นข้าวโพดเหลือเป็นจำนวนมาก จะไถกลบก็เสียดาย จึงเกิดแนวคิดนำต้นข้าวโพดหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบเลี้ยงโคเนื้อ เมื่อทดลองแล้วได้ผลดีจึงทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และยังเป็นการใช้เศษวัสดุทางการเกษตรที่มีมากในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง 
 
ข้าวโพดหวาน เป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้น หนึ่งปีสามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้ง ใช้ต้นทุนไร่ละ  5,500-6,000 บาท ได้ผลผลิตประมาณ 2 ตัน/ไร่/รอบการผลิต ขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางในตลาดสุรนคร จังหวัดนครราชสีมา ราคากิโลกรัมละ 5.50 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรเหลือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท/ไร่/รุ่น หรือประมาณ 285,000 บาท/ปี  
 
หลังเก็บเกี่ยวฝักข้าวโพดหวานป้อนตลาดแล้ว ต้องรีบตัดต้นข้าวโพดก่อนที่ต้นจะแห้งหรือตัดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะได้ต้นที่มีความสดและมีระดับโปรตีน สูง พื้นที่ 1 ไร่ จะได้น้ำหนักประมาณ 2 ตัน จากนั้นนำมาเข้าเครื่องสับบดแล้วนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคขุนลูกผสมบรามันห์ที่มีอยู่กว่า 60 ตัว โดยให้กินเต็มที่ โคจะมีอัตราการแลกเนื้อดี ใช้ระยะเวลาขุนประมาณ 4-6 เดือน ก็สามารถขายโคขุนให้กับพ่อค้าหรือเขียงเนื้อในพื้นที่ได้ ราคากิโลกรัมละ 45 บาท ได้กำไรประมาณ 700 บาท/ตัว/เดือน หลังจากทยอยขายโคขุนออกไปแล้ว ก็จะตระเวนหาซื้อโคเพศผู้อายุ 2-3 ปี เข้ามาขุนใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อรักษาตลาดไว้ 
 
“ระยะ 4-5 ปีที่ดำเนินธุรกิจนี้มาถือว่าพออยู่ได้และเลี้ยงตัวรอด ทั้งข้าวโพดและโคเนื้อต่างเกื้อกูลกัน ซึ่งโคขุนได้กินอาหารที่มีคุณค่าสูง ขณะเดียวกันก็ใช้มูลโคเป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดินในแปลงปลูกข้าวโพดหวาน สามารถช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก ถึงแม้ปุ๋ยจะแพงก็ไม่มีปัญหา”
 
คุณสุรพรหมยังบอกอีกว่า เนื่องจากพื้นที่ตำบลมาบตะโกเอนและตำบลใกล้เคียง มีผู้ปลูกข้าวโพดหวานกว่า 400 ราย ทำให้มีต้นข้าวโพดเหลือเป็นจำนวนมาก ตนจึงคิดนำวัตถุดิบส่วนที่เหลือมาผลิตเป็นข้าวโพดหมัก เพื่อเก็บไว้เป็นอาหารเลี้ยงโคขุนในช่วงที่ต้นข้าวโพดสดหายาก สำหรับการผลิตข้าวโพดหมักนั้นทำง่าย ๆ ภายหลังบดสับต้นข้าวโพดแล้ว ก็นำมาบรรจุในถุงพลาสติกใสน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ซ้อนด้วยกระสอบปุ๋ยอีกหนึ่งชั้น จากนั้นใช้เทคนิคดูดอากาศออกคล้ายระบบสุญญากาศ แล้วต้องรัดปากถุงทั้งสองชั้นให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ 21 วัน ขบวนการหมักจะสมบูรณ์และได้ข้าวโพดหมักที่มีคุณภาพดี มีกลิ่นหอมซึ่งโคชอบกินมากกว่าสภาพสด  
 
การทำข้าวโพดหมักแบบดูดอากาศออก มีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน ปัจจุบันมีกำลังการผลิตข้าวโพดหมัก 15 ตัน/วัน ส่วนหนึ่งกักตุนไว้ใช้เลี้ยงโคขุนในฟาร์ม และที่เหลือส่งขายให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ อำเภอขามทะเลสอ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในละแวกใกล้เคียง น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 45 บาท ช่วยเสริมรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
หากสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ การปลูกข้าวโพดหวาน การผลิตข้าวโพดหมักใช้เลี้ยงโคขุน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินตำบล มาบตะโกเอน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โทร. 08-1966-9306 หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โทร. 0- 4424-1345, 0-4424-3991


-ที่มา;ศูนย์วัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว



เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม 
เทคนิคการเลี้ยงสุกรโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ ประเทศเกาหลี
(อ้างโดย ดร.อานัติ ตันโช 2547 จากหนังสือ เกษตรกรรมธรรมชาติ )

สถาบันเกษตรธรรมชาติเกาหลี Janong ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแม่สุกรครั้งละ 30 แม่เพื่อผลิตลูก 600 ตัว/ปี การจัดการฟาร์มแบบเกษตรธรรมชาติทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 40 % แม่บ้าน 1 คนสามารถเลี้ยงสุกรได้ 30 ตัว โดยใช้อาหารที่ทำเอง 60-70 % เป็นการผสมผสานการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเดียวกัน ใช้สิ่งเหลือใช้จากการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คอกสุกรจากระบบนี้ ไม่ต้องทำความสะอาดและล้างออกไป เป็นระบบการจัดการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในฟาร์มอย่างสมบรูณ์ มูลสุกรจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นอาหารชั้นดีของสุกรและปุ๋ยชั้นเยี่ยมจากกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ 

การเลี้ยงสุกรในคอกที่ไม่แออัด ปล่อยแบบธรรมชาติสัมผัสดิน แสงแดด อากาศบริสุทธิ์ มีหญ้าสด พืชผักเป็นอาหารธรรมชาติที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุธรรมชาติทำให้ลำใส้สุกรมีสุขภาพที่ดี ย่อยและดูดซึมอาหารได้ดี สุกรแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคโดยธรรมชาติ ทำให้ไม่ต้องใช้ยาเคมีในการป้องกันและรักษาโรคเหมือนการเลี้ยงสุกรในฟาร์มการค้าทั่วๆไป ซึ่งตรงตามแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ล่วงหน้าดีกว่าการรักษา positive animal health and welfare นอกจากนี้คุณภาพเนื้อสุกรจะมีสีชมพู มีปริมาณไขมันในสัดส่วนที่พอเหมาะ ชุ่มน้ำและมีกลิ่นหอมเป็นที่นิยมของผู้บริโภค



เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม กรณีศึกษาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี 

(อ้างอิงจากปศุสัตว์อำเภอสร้างคอม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี)

โดยมีข้อมูลพื้นฐานจากกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมของผู้ใหญ่สุวรรณ ศรีสุพัฒน์ บ้านศรีชมชื่น หมู่ 6 ตำบลบ้านหินโงม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มแปลงสาธิตเกษตรกรรมธรรมชาติ สนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย โดยการเรียนรู้จากจังหวัดเชียงราย จากการดำเนินงานในรูปกลุ่มเกษตรกรในการเลี้ยงหมูหลุมพบว่า สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชนบทได้เป็นอย่างดี และเป็นการใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ในท้องถิ่น ลดการใช้อาหารสำเร็จรูปจากท้องตลาดได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอในการผลิตและการบริโภคผลผลิตจากชุมชน ดังนั้นในปี งบประมาณ 2548 สำนักงานปศุสัตว์อุดรธานี จึงได้ของบประมาณสนับสนุนการเลี้ยงหมูหลุมในหมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณบูรณาการผู้ว่าราชการจังหวัด


ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง 

1.การสร้างโรงเรือน

เลือกพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง อากาศถ่ายเทสะดวก ปลูกสร้างด้วยวัสดุในท้องถิ่น โครงไม้ไผ่ หลังคาหญ้าคา ขนาด กว้าง x ยาว x สูง = 4 x5x1.8 เมตร เลี้ยงคอกละ 20 ตัว หลังคาควรมีแสงรอดผ่าน หรือมีพื้นที่รับแสงได้ 1/3 ของพื้นที่คอกตลอดทั้งวัน จะทำให้มีการฆ่าเชื้อด้วยแสงอาทิตย์ทุกวัน


2.การเตรียมพื้นคอก 

2.1ขุดหลุมลึก 90 ซม.ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับจำนวนหมูที่จะเลี้ยง โดยมีพื้นที่ต่อตัว 1- 1.5 
เมตรต่อตัว 
2.2 ก่ออิฐให้รอบทั้ง 4 ด้าน และให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร ไม่ต้องเทพื้น 
2.3 วัสดุเตรียมพื้นคอก โดยจัดทำเป็น 3 ชั้นๆละ 30 ซม. โดยใช้วัตถุดิบดังนี้ 
- แกลบดิบ 4,300 กิโลกรัม 
- มูลโคหรือกระบือ 320 กิโลกรัม 
- รำอ่อน 185 กิโลกรัม 
- น้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียว1 ลิตร ซึ่งจะได้แบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแลคติค



วิธีทำพื้นคอก 

1.ใส่แกลบสูง 30 ซม. 
2.ใส่มูลโค-กระบือ 8 ถุงปุ๋ย และรำข้าว 8 ถุงปุ๋ย ให้ทั่ว 
3.ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ ขนาด 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 10 ลิตรรดให้ทั่วพอชุ่ม 
4.ชั้นต่อไปทำเหมือนเดิมจนครบ 3 ชั้น ทิ้งไว้ 7 วันปล่อยให้เกิดการหมักของ
จุลินทรีย์ จึงนำลูกหมูหย่านมมาเลี้ยงเมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งให้เติมวัสดุรองคอกด้วย
เสริมเดิมให้เต็มเสมอ



3. พันธุ์สุกร 

ควรใช้สุกร 3 สายเลือดจากฟาร์มที่ไว้ใจได้ และคัดสายพันธุ์มาสำหรับการเลี้ยงแบบปล่อยได้ดี หย่านมแล้ว อายุประมาณ 1 เดือน น้ำหนักประมาณ 12-20 กิโลกรัม


4. อาหารและวิธีการเลี้ยง 


4.1 ในระยะเดือนแรก ให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด สำหรับสุกรหย่านมมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับรำโรงสีชาวบ้าน ในอัตรา 1: 3 ให้กิน 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น เป็นเวลา 15 วันแรก หลังจากนั้นลดอาหารสำเร็จรูปลงจนครบ 1 เดือน ไม่ต้องให้อาหารสำเร็จรูปอีกต่อไป โดยในกลางวันให้กินอาหารเสริมประเภทพืช ผัก และถ้ามีกากน้ำตาลให้หั่นพืชผักหมักกับกากาน้ำตาลทิ้งไว้ 1 วัน แล้วให้กินจะเป็นการดียิ่ง 

4.2 ในระยะเดือนที่ 2 จนถึงจำหน่าย งดให้อาหารสำเร็จรูป เกษตรกรนำกากปลาร้าต้มกับรำข้าว หรือใช้ รำปลายข้าว ในอัตราส่วน 1:1 และเศษพืชผักเป็นอาหารเสริม โดยมีระยะเวลาเลี้ยง 3-3 เดือนครึ่ง ได้น้ำหนักประมาณ 80-100 กก.



คำแนะนำการให้อาหาร 

น้ำหนักหมู ชนิดอาหาร ปริมาณ กก/ตัว/วัน อาหารเสริม 
12-20 กก. อาหารสำเร็จรูป 1.0-1.5 หญ้าสดหรือเศษผัก 
20-35 กก. รำ+ ปลายข้าว 1.7- 2.0 หญ้าสดหรือเศษผัก 
35-60 กก. รำ+ ปลายข้าว 2.5- 3.0 หญ้าสดหรือเศษผัก 
60-100 กก. รำ+ ปลายข้าว 3.5 -4.0 หญ้าสดหรือเศษผัก 


5. การดูแลอื่นๆ

การคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ด้วยการเลี้ยงปล่อยให้หมูได้มีโอกาสสัมผัสดิน สุกรได้แสดงออกตามพฤติกรรม ป้องกันแสงแดดมากเกินไป ลมโกรกพอดี สุมไฟไล่ยุงในฤดูฝน


6. ต้นทุนการผลิต 

6.1 ค่าโรงเรือน รวมอุปกรณ์ การให้น้ำและอาหาร เงิน 3,000 บาท 
6.2 ค่าก่อกำแพงอิฐบล็อกภายในหลุมทั้ง 4 ด้าน เงิน 1,050 บาท 
6.3 ค่าพันธุ์หมู 20 ตัวๆละ 1.200 บาท เงิน 24,000 บาท 
6.4 ค่าจัดทำวัสดุรองพื้น เงิน 2,080 บาท ได้แก่ แกลบ 1 คันรถ เงิน 300 บาท มูลโค- 
กระบือ 24 กระสอบๆละ 10 บาท เงิน 240 บาท รำข้าว 576 กก.ๆละ 2.50 บาท เงิน 
1,440 บาท สารจุลินทรีย์ 100 บาท 
6.5 ค่าอาหารหมู เงิน 6,575 บาท 
- อาหารสำเร็จรูป 150 กก. ๆละ 10 บาท เงิน 1,500 บาท 
- รำข้าว 1,750 กก.ๆละ 2.50 บาท เงิน 4,375 บาท 
- กากปลาร้า เงิน 100 บาท 
- ปลายข้าว 120 กก. ๆละ 5.00 บาท เงิน 600 บาท 
6.6 ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และหล่อลื่นในการจัดอาหารเสริม เงิน 2,000 บาท 
6.7 ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงิน 400 บาท (ไม่ได้คิดค่าแรงงาน) รวมต้นทุน 39,105 บาท



7. รายรับ 

7.1 จำหน่ายสุกร 20 ตัวๆละ 3,000 บาท เงิน 60,000 บาท 
7.2 ปุ๋ยชีวภาพที่ได้ 10 ตันๆละ 2,000 บาท เงิน 20,000 บาท 
รวมรับ 80,000 บาท



ผลลัพท์จากการเลี้ยงหมูหลุม 

การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการผลิตที่เหมาะสมกับการทรัพยากรและการบริโภค ในท้องถิ่นทำให้เศรษฐกิจฐานล่างมีความเข้มแข็ง สนับสนุนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่

ด้านเศรษฐกิจ

ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม พึ่งพาการผลิตการบริโภคในท้องถิ่นเกิดความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน

ด้านสังคม

เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทำให้ครอบครัวมีงานทำหมุนเวียนตลอด ก่อเกิดรายได้ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

ด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นการผลิตผสมผสานปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ใช้ทรัพยากร ผืนดินให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิต ใช้วงจรชีวภาพหมุนเวียนให้เกิดการผลิตหลายรอบ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านสุขภาพ

การเลี้ยงหมูที่ไม่เครียดทำให้มีสุขภาพดี และการเลี้ยงด้วยหญ้าจะทำให้เนื้อสัตว์มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิด โอไมก้า 3 ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และไขมันอุดตันในหลอดเลือดสูง และผลผลิตปลอดภัยปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ มีผลทำให้สุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง Food Quality ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเช่นเดียวกับอาหารอินทรีย์


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 


1) ความท้าทายของกระแสโลก ทำให้ต้องปรับวิธีคิดการผลิตการเกษตร เพื่อสร้างอาหารเลี้ยงมนุษย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1.1) การเสื่อมของดินจากกิจกรรมของมนุษย์
1.2) น้ำขาดแคลนและแหล่งน้ำเกิดมลพิษ มีเชื้อโรค จากการเกษตรเคมี และอุตสาหกรรม
1.3) ภาวะโรคร้อน
1.4) ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
1.5) แหล่งพลังงานจากฟอสซิลไกล้หมด บทบาทการเลี้ยงสัตว์ในโลกต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง สัตว์เป็นตัวใช้ทรัพยากร มนุษย์มีความต้องการอาหารผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพิ่มขึ้น หากมีการจัดการที่ดีปศุสัตว์จะเป็นสิ่งส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบรูณ์ของดิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

2) ระบบการเลี้ยงสัตว์ผสมผสานการปลูกพืช จะมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและเป็นเกษตรกรรายย่อย การเลี้ยงสัตว์เป็นความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนจน เนื่องจากมีข้อจำกัดคือมีพื้นที่ถือครองน้อย ทรัพยากรจำกัด
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับแนวคิดนักวิชาการ นักพัฒนา นักส่งเสริมเพื่อรับกับกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ( เรียบเรียงจาก Why the need to change the mind set หนังสือ Livestock and Wealth Creation) จำเป็นต้องปรับปรุงการจัดการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น โดย
2.1 ต้องมีการ” เขียนตำราการเลี้ยงสัตว์ใหม่” เรื่องวิธีการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรรายย่อย ซึ่งปกติมีแต่ตำราที่เป็นการผลิตเชิงเดี่ยวจากการทำฟาร์มแบบตะวันตก ยังไม่มีตำราเกี่ยวกับการเกษตรองค์รวม ซึ่งหากเกษตรกรพัฒนาการเลี้ยงสัตว์จะเป็นการเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาความยากจน
2.2 ให้คุณค่า” การยอมรับทางวิชาการ” ในการศึกษาวิธีการที่จะปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อย ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ลองผิดลองถูกจนเห็นผลเชิงประจักษ์ ซึ่งบางอย่างวิทยาศาสตร์เชิงเดี่ยวไม่สามารถพิสูจน์ได้ มีความซับซ้อนของธรรมชาติที่มนุษย์เรียนรู้ไม่หมดต้องมีการศึกษาตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีและลดปัญหาความยากจนในชนบท
2.3 ให้ความสำคัญ” กระบวนการมีส่วนร่วม” ในการวิจัยและพัฒนา เช่นการให้เกษตรกรและผู้มีส่วน ได้ส่วนเสียกำหนดแผนชุมชนในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน เช่น กรณีการเลี้ยงหมูหลุม การทำเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านมีมากมายกระจัดกระจาย นักวิชาการจำเป็นต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสนับสนุนต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรม ซึ่งเป็นการปฏิรูปแนวคิดการทำงานของนักวิชากาในยุคใหม่ ”การจัดการความรู้” โดยกระบวนการวิจัย เพื่อท้องถิ่นซึ่งรวมทั้งการสร้างความรู้และการถ่ายทอดความรู้ การเผยแพร่ความรู้ เป็นต้น
2.4 การปรับเปลี่ยนแนวคิด “การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวม” ไม่แยกตามกิจกรรมตามภารกิจของหน่วยงาน เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเกษตรผสมผสาน การปรับปรุงการจัดการเลี้ยงสัตว์จะมีผลกระทบต่อทั้งระบบ
ดังนั้นจากแนวโน้มกระแสโลกที่เกิดขึ้น เกษตรกรรายย่อยจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตแบบผสมผสานทำให้มีผลผลิตหลายอย่างออกสู่ตลาด ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชและตลาดต่างประเทศ
3. การส่งเสริมสนับสนุนควรทำครบวงจร ตั้งแต่ ความต้องการเนื้อสุกรของชุมชน ปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ อาหารสัตว์ สารธรรมชาติจากการหมักจุลินทรีย์ สมุนไพร ระบบการผลิต การแปรรูปโรงฆ่าขนาดที่พอเหมาะและเหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่น การจัดการตลาดควรเป็นการบริโภคในท้องถิ่น รวมทั้งกระบวนการกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในชุมชน เช่นการปลูกพืช ข้าวและโรงสีชุมชน ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จในการปฏิบัติ เป็นต้น
ความรู้การเลี้ยงหมูหลุม มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากทุกขั้นตอน ดังนั้น กรมปศุสัตว์ควรเสริมสร้างศักยภาพของนักวิชาการและนักส่งเสริม ในด้านแนวทางการพัฒนาโดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการสร้างความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการปฏิบัติจริง แทนการอบรมแบบเดิมซึ่งเกษตรไม่นำไปปฏิบัติ โดยกระบวนการวิจัยจะอยู่ในเนื้องานปกติของนักพัฒนานั่นเอง

-ที่มา;ptg2552.com



โคเนื้อ

> โคเนื้อกำแพงแสน เลี้ยงง่าย โตเร็ว ตลาดไม่ตัน “เนื่องจากประกอบธุรกิจลานมันเป็นอาชีพหลัก จึงมีความคิดว่ามันสำปะหลังที่มีอยู่น่าจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และโดยปกติเราใช้เป็นอาหารสัตว์อยู่แล้ว หากเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริมโดยใช้วัตถุดิบที่มีอย ก็น่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังและยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย” นั่นคือคำพูดของ คุณสุกิจ วรรณปิยรัตน์ เจ้าของฟาร์มโคเนื้อ “วัฒนกิจฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มโคขุนที่มากด้วย ประสบการณ์เลี้ยงโคกว่า 20 ปี เป็นฟาร์มที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนเป็นสายพันธุ์หลัก เนื่องจากเป็นโคเนื้อที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยการนำโคลูกผสมพันธุ์พื้นเมืองของไทยผสมกับโคเนื้อสายพันธุ์อเมริกันบราห์มัน เลือด 50:50 แล้วนำมาผสมกับโคเนื้อสายพันธุ์ชาโรเลห์ กลายเป็นโคลูกผสมสามสายเลือด ทีมงานสัตว์เศรษฐกิจ ได้มีโอกาสเดินทางไปที่จังหวัดชัยนาท เพื่อเข้าเยี่ยมชมฟาร์มโคเนื้อของ คุณสุกิจ วรรณปิยรัตน์ ตั้งอยู่ เลขที่ 78 หมู่ 5 ตำบลสุกเดือนห้า กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท โทรศัพท์ 01-8581944 โดยมีคุณสุกิจคอยให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก้าวแรกของการเข้าสัมผัสบริเวณภายในฟาร์ม สังเกตเห็นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นลานมัน เนื่องจากคุณสุ-กิจรับซื้อมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก แต่ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างขวาง จึงแบ่งโซนไว้เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงโคอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน ประมาณ 200 ไร่ จัดทำเป็นโรงเรือนสำหรับเลี้ยงโค และโรงอาหารสำหรับใช้ในการเก็บอาหารและผสมอาหาร โดยโรงเรือนเลี้ยงโคสร้างด้วยเสาเหล็กและมุงหลังคาด้วยกระเบื้องอย่างแข็งแรง ขนาดความยาวประมาณ 60 เมตร กว้าง ประมาณ 10 เมตร แบ่งคอกย่อยเป็นล็อกๆ กว้าง ประมาณ 4 เมตร ยาว 10 เมตร ทำการปล่อยโคลงเป็นรุ่นๆ ตามขนาดและอายุของโค มีทั้งหมด 4 โรงเรือน แบ่งเป็นโรงเรือนโคแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์ โรงเรือนโครุ่นหลังหย่านม และโรงเรือนโคขุน ส่วนโรงอาหารสร้างอยู่ในบริเวณใกล้กันโดยสร้างด้วยเสาไม้และมุงหลังคาสังกะสี กั้นเป็นช่องด้วยกำแพงคอนกรีต ขนาดความกว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 5 เมตรจำนวน 5 ช่อง แบ่งไว้สำหรับใช้เก็บวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารที่ผสมเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมไปใช้สำหรับเลี้ยงโค คุณสุกิจเล่าให้ฟังว่าเคยทำไร่อ้อยมาก่อน จากนั้นได้เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจลานมัน รับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร และจุดนี้เองที่เห็นว่ามันที่รับซื้อมามีจำนวนมาก น่านำมาเพิ่มมูลค่าได้ โดยเห็นว่าปกติเราใช้มันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว หากนำมาเลี้ยงโคเนื้อก็น่าจะเกิด้ประโยชน์ อีกทั้งยังมองว่าการเลี้ยงโคเนื้อน่าจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้ปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่เลือกเลี้ยงโคเนื้อเนื่องจากมองว่าการเลี้ยงโคเนื้อมีค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือนและการจัดการน้อยกว่าการเลี้ยงไก่ และสุกร การป้องกันโรคและการดูแลก็ไม่ยุ่งยากนัก แต่หากเลี้ยงโคเนื้อยังพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง และจะสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคได้อีกด้วย “ในระยะแรกได้ซื้อโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ลูกผสมบราห์มันจากเกษตรกรและตามตลาดนัดโค-กระบือ ในเขตจังหวัดชัยนาทมาเลี้ยง ประมาณ 30 กว่าตัว อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 4 ปี คละเพศ มีทั้งโครุ่น และโคแม่พันธุ์ โดยคัดเลือกตัวที่มีความสมบูรณ์เหมาะกับความเป็นโคเนื้อมาเลี้ยง ซึ่งจะดูจากความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อขา เพราะมองว่าโคที่มีกล้ามเนื้อขาใหญ่ จะเป็นโคที่โตเร็ว และเน้นไปที่ลูกผสมชาโรเลห์ หรือลูกผสมบราห์มัน ไม่เน้นโคที่มีสายเลือดพื้นเมืองมากเกินไปเพราะโตช้า” คุณสุกิจเล่าต่อว่า หลังจากเลี้ยงโคเนื้อที่ซื้อมาชุดแรกได้ระยะหนึ่ง โคตัวเมียบางตัวก็เริ่มที่จะผสมพันธุ์ได้ ทางฟาร์มจึงได้ทำการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนโค โดยการนำน้ำเชื้อของโคสายพันธุ์ชาโรเลห์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาทำการผสมเทียม ซึ่งหลังจากที่ผสมเทียมแล้วได้ลูกโคสามสายเลือด ซึ่งประกอบด้วยชาโลเลห์ 50% พื้นเมือง 25% และบราห์มัน 25% มีลักษณะคล้ายกับโคพันธุ์ชาโรเลห์ ลำตัวสีเหลืองครีม มีความสมบูรณ์พันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบอัตราการขุนกับลูกผสมบราห์มันพบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่า เร็วกว่า และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนเรื่อยมา จนปัจจุบันในฟาร์มมีโคทั้งหมดประมาณ 200 กว่าตัว เป็นแม่พันธุ์ประมาณ 100 ตัว เป็นพ่อพันธุ์ 3 ตัว พันธุ์กำแพง แสนทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะเป็นโครุ่นและโคขุน โดยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงประมาณ 20 กว่าปี “จุดเด่นของโคกำแพงแสนคือเป็นโคที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว มีอัตราการแลกเนื้อดีกว่าโคลูกผสมบราห์มัน ทำให้สามารถผลิตส่งตลาดได้เร็วกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าอีกด้วย ตลอดเวลาช่วงการขุนโคกำแพงแสนจะไม่มีการหยุดชะงักการเจริญเติบโต สามารถเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกโคจนถึงจับขายได้เลย แต่หากเป็นโคลูกผสมบราห์มันจะมีจุดชะงักการเจริญเติบโต เช่นในช่วงน้ำหนักประมาณ 300 กว่ากิโลกรัม การเจริญเติบโตจะหยุดชะงัก ตัวจะอ้วนกลมขึ้น แต่โคพันธุ์กำแพงแสนการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อสามารถ ไปได้เรื่อยๆ จนถึง 550-600 กิโลกรัม” คุณสุกิจกล่าวยืนยัน คุณสุกิจเล่าต่อว่าทางฟาร์มจะคัดเลือกลูกโคที่เป็นผลผลิตจากฟาร์มที่มีลักษณะดีไว้ เพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ มีเกณฑ์ในการคัดเลือกโดยดูจากลักษณะของโครงสร้างกล้ามเนื้อ และอัตราการเจริญเติบโตเป็นหลัก ขาและลำแข้งต้องตรงและโตเหมาะสมกับลำตัว ขาไม่เตี้ยสั้นผิดปกติ ลำ-ตัวยาว โคตัวผู้ที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ต้องมีอัณฑะที่สมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง ใหญ่โตเสมอกัน ลึงค์ต้องไม่หย่อนยานจนเกินไป ซึ่งโดยปกติโคเนื้อที่มีลักษณะโครงสร้างของกล้ามเนื้อดีก็จะทำให้มีอัตราการเจริญที่ดีด้วย ทางฟาร์มจะเริ่มผสมพันธุ์แม่โคที่อายุ 2 ปี โดยจะใช้โคตัวผู้ปล่อยในฝูงช่วยในการเช็คสัด ซึ่งการปล่อยให้โคตัวผู้อยู่รวมในฝูงโคตัวเมียจะทำให้เราสามารถทราบว่าโคตัวไหนเป็นสัดได้ค่อนข้างจะแม่นยำอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากการแสดงอาการเป็นสัดของโคตัวเมีย ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าโคตัวนั้นพร้อมและยินยอมที่จะรับการผสมพันธุ์ ปกติการแสดงอาการเป็นสัดของโคจะอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 24 ชั่วโมง และหากโคเป็นสัดแล้วไม่ได้รับการผสม ก็จะกลับมาแสดงอาการเป็นสัดอีกภายใน 21 วันโดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อเราได้โคแม่พันธุ์ที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว เราจะนำแม่พันธุ์มาแยกเลี้ยงจากตัวอื่นเพื่อเตรียมรับการผสม โดยทางฟาร์มจะใช้วิธีการผสมพันธุ์แบบผสมจริง คือการให้โคพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์ที่มีอยู่ในฟาร์มขึ้นทับโคตัวเมียที่แสดงอาการเป็นสัด และส่วนหนึ่งจะใช้วิธีผสมเทียมสลับกัน เพื่อไม่ให้พ่อพันธุ์เสื่อมประสิทธิภาพเร็วเกินไป โดยน้ำเชื้อที่ทางฟาร์มนำมาใช้จะได้มาจากกรมปศุสัตว์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หลังจากโคได้รับการผสมแล้วจะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 283 วัน เมื่อลูกโคคลอดออกมาแล้วเราจะให้ลูกโคได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ ซึ่งปกติลูกโคควรจะได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรกเกิด เพื่อที่จะได้รับภูมิ- คุ้มกันจากแม่ที่ถ่ายทอดให้กับลูกได้ และเมื่อลูกโคมีอายุครบ 5 เดือนจึงจะเริ่มหย่านม และจะเริ่มทำวัคซีนเข็มแรก ซึ่งในการทำวัคซีนนั้น จะต้องทำให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสัตว์ และทำตามกำหนดเวลาเป็นประจำ เพื่อให้สัตว์มีระดับภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงอยู่เสมอ ซึ่งสัตว์จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีน ทั้งนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ผลดีนั้น สัตว์จะต้องมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ และได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งการทำวัคซีนจะต้องทำซ้ำทุกๆ 3 เดือนเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนที่ทำจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยเพียงอย่างเดียง โดยดำเนินการไปพร้อมกับการถ่ายพยาธิ สำหรับอาหารที่ให้ก็จะเป็นอาหารข้น และให้อาหารหยาบผสมเพิ่มลงไป โดยมีอัตราส่วนในการให้ประมาณ 2-3% ของน้ำหนักตัว ซึ่งจะแบ่งให้เป็น 3 เวลา อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงโคในฟาร์มจะเป็นอาหารที่ผสมเองทั้งหมด ทางฟาร์มจะใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังที่มีอยู่ในลานมันมาผสมกับแหล่งโปรตีนที่ได้จาก กากงา กากนุ่น ส่วนแร่ธาตุเราจะผสมไดแคลเซี่ยมลงไป 10% พร้อมกับพรีมิกซ์ หากเป็นอาหารโครุ่นจะเสริมกากงาเพิ่มลงไปเพื่อเพิ่มโปรตีนทำให้โคมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น ทั้งนี้ทางฟาร์มจะให้อาหารหยาบเช่น ฟางข้าว หญ้าหมักเสริมไปด้วย และเมื่อโคมีน้ำหนัก ประมาณ 300 กิโลกรัมขึ้นไป จะเริ่มขุนโคโดยให้อาหารเต็มที่อีกประมาณ 10 เดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยโคจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มเดือนละประมาณ 25 กิโลกรัม และเมื่อโคขุนได้น้ำหนักประมาณ 550 กิโลกรัม หรือที่อายุประมาณ 20 เดือน ก็จะคัดขาย โดยส่วนใหญ่จะคัดขายเฉพาะโคตัวผู้ ส่วนโคตัวเมียจะคัดเลือกตัวที่มีลักษณะและมีอัตราการเจริญเติบโตดีไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป ในส่วนของโคแม่ พันธุ์ทางฟาร์มจะเลี้ยงแบบธรรมชาติ คือปล่อยแปลงหญ้าเพื่อให้โคได้แทะเล็มหญ้าอาหารสัตว์ที่ปลูกไว้อย่างเต็มที่ โดยทางฟาร์มจะปลูกถั่วฮามาต้า และหญ้าซาตากัสไว้ในแปลง เนื่องจากทั้งสองชนิดนี้มีความทนทานต่อการเหยียบย่ำของโค และจะเสริมอาหารข้นให้เฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น สำหรับโคอุ้มท้องหรือโคเลี้ยงลูกก็จะให้เช่นเดียวกัน ในส่วนของโคขุนและโครุ่นจะเลี้ยงแบบยืนโรงให้อาหารในรางอาหารที่เตรียมไว้ ซึ่งบางครั้งมักจะมีปัญหาเรื่องข้อขา และกีบเท้าบ้าง จึงจำเป็นต้องให้อาหารแก่โคอย่างเพียงพอเพื่อที่จะไปเสริมสร้างในส่วนของกล้ามเนื้อข้อขา สำหรับราคาที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันกิโลกรัมละ 108 บาท ทางฟาร์มจะขายที่สหกรณ์โคเนื้อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหลัก จะมีขายให้กับพ่อค้ารายย่อยบ้างในบางครั้ง ซึ่งต้นทุนการผลิตในแต่ละตัวจะไม่เท่ากันเนื่องจากโคมีขนาดต่างกัน บางตัวเล็ก บางตัวใหญ่ ทำให้โคแต่ละตัวกินอาหารไม่เท่ากัน “แนวโน้มการตลาดโคเนื้อในอนาคตก็ยังคงไปได้ดี เนื่องจากยังมีผู้ที่บริโภคเนื้อโคกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว และเกษตรกรยังคงต้องการเลี้ยงโคขุนกันเยอะ ซึ่งโคขุนที่มีสายพันธุ์ชาโลเลห์ หรือพันธุ์กำแพงแสนก็ยังเป็นที่สนใจของเกษตรกร แต่ในบางครั้งก็มีปัญหาบ้าง เนื่องจากโคที่เลี้ยงโตไม่เท่ากัน หรือบางครั้งก็มีปัญหาโคล้นตลาดบ้าง ซึ่งมักเป็นไปตามวงรอบและกลไกของตลาด และปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ธุรกิจการเลี้ยงโคเนื้อยังจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับระบบของรัฐ เช่น กรณีการเคลื่อนย้ายโคมีขั้นตอนมากมาย เพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาด และการควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจแฝงตัวมาจากโคที่กำลังเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดการล่าช้าในการขนส่งให้แก่ลูกค้า และในส่วนของเรื่องตลาดนัดค้าโค กระบือ ควรจะจัดให้เป็นระบบมากขึ้นเพราะหากไม่เป็นระบบอาจมีการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย” คุณสุกิจกล่าว สุดท้ายคุณสุกิจ ได้ฝากถึงผู้ที่เลี้ยงโคเนื้อและผู้ที่คิดจะเริ่มเลี้ยงโคเนื้อ ว่า ผู้ที่จะเลี้ยงโคเนื้อในระยะแรกควรศึกษาในเรื่องการลงทุนให้ดี และควรเริ่มจากเงินลงทุนที่ต่ำๆ ก่อน อย่าเพิ่งเริ่มใช้เงินลงทุนที่สูง และอย่าไปมองแต่แม่พันธุ์ที่มีราคาสูง ควรจะต้องมองว่าโคเนื้อคืออะไร และเมื่อเลี้ยงไปแล้วต้องการขายอะไร ทั้งนี้ โคเนื้อกำแพงแสนถือว่ามีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์คุณภาพดี เพื่อมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจะไปเลือกที่ตรงไหน เพราะทุกคนบอกว่าพ่อแม่พันธุ์ที่ดีต้องมีลักษณะอ้วนๆ แต่ไม่ได้มีการทดสอบว่ามีประสิทธิภาพ ดีแค่ไหน เพราะหากเราคัดเลือกพ่อพันธุ์เอง บางตัวใช้งานได้ 10 ครั้ง บางตัวได้ 2 ครั้ง ไม่มีความแน่นอนเนื่องจากไม่ได้มีการทดสอบสายพันธุ์ แต่หากมีการทดสอบว่าตัวไหนมี ประสิทธิภาพที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตดี มีประสิทธิภาพของน้ำเชื้อดี เราก็สามารถไปซื้อมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องมาทดสอบเอง ทั้งนี้ผู้ที่จะเลี้ยงโคเนื้อจะต้องมีใจรักการเลี้ยงสัตว์ มีความขยัน อดทน ไม่ท้อแท้เมื่อเกิดปัญหา หมั่นแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในฟาร์ม และที่สำคัญต้องมีเวลาดูแลและคลุกคลีกับโคในฟาร์มอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัญหา และหาทางแก้ไขได้ถูกต้องและทันท่วงที จาก ทีมงานสัตว์เศรษฐกิจ

-ที่มา;jobpob.com